โหราจารย์ อ.รวีโรจน์ หมอดูแม่นๆ ดูดวงเลข7ตัว9ฐาน ดูลายมือ พยากรณ์ไพ่ยิปซี โหรตั้งชื่่อ ตั้งนามสกุล รับสอนดูดวง จบแล้วประกอบอาชีพหมอดูได้เลย ติดต่อโทร.099-9291239

วันมหาสงกรานต์

 

                เมื่อถึงเดือน 5 ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุก ๆ ปี เราเรียกวันนี้ว่า “วันสงกรานต์” ประเพณีไทยเดิมถือว่าวันนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่ ธรรมเนียมไทยเราก็จะมีการเล่นรื่นเริงมีการรดน้ำ ดำหัว โดยเฉพาะหนุ่มสาว ๆ สาว ๆ จะสนุกกันเต็มที่ เล่นสาดน้ำกันโดยไม่ถือเนื้อถือตัวเลย ในชนบทหลายแห่ง มีการเล่นพื้นเมืองต่าง ๆ กัน

 

                อนึ่ง วันนี้บางแห่งจะเริ่มจากวันที่ 13 เมษายน และมีการเล่นสนุกสนานไปราว ๆ 1 สัปดาห์ หรือกว่านั้น แต่ไม่เกิน 2 สัปดาห์ ระยะนี้จะมีการนำน้ำหอม เสื้อผ้าอาภรณ์ไปรดน้ำผู้ใหญ่ญาติพี่น้อง ที่เคารพนับถือ และทางศาสนาก็จัดให้มีการบายศรีพระสงฆ์สมภารเจ้าวัด รดน้ำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ เท่าที่มีตามวัดต่าง ๆ ใกล้เคียง

 

                กำเนิดวันสงกรานต์ มีเรื่องเล่าสืบ ๆ กันมา น่าจดนำไว้ดังจะขอคัดข้อความจารึกวัดเชตุพนฯ มากล่าวไประดับความรู้ของสาธุชนทั้งหลายดังต่อไปนี้

 

                “.....เมื่อต้นภัทรกัลป์ มีเศรษฐีคนหนึ่ง มั่งมีทรัพย์มาก แต่ไม่มีบุตรบ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุรา นักเลงสุรานั้นมีบุตร 2 คน ผิวเนื้อดุจทอง วันหนึ่งนักเลงสุราเข้าไปในบ้านของเศรษฐี แล้วด่าเศรษฐีด้วยถ้อยคำหยาบคายต่าง ๆ เศรษฐีได้ฟังจึงถามว่า ท่านมีสมบัติมากมายแต่หามีบุตรไม่ เมื่อท่านตายไปแล้วสมบัติจะอันตรธานไปหมดหาประโยชน์อันใดมิได้ เพราะขาดทายาทผู้ปกครอง ข้าพเจ้ามีบุตรอยู่ถึง 2 คน และรูปร่างงดงามเสียด้วย ข้าพเจ้าจึงดีกว่าท่านเศรษฐีครั้นได้ฟังดังนั้นก็เห็นจริงด้วย จึงมีความละอายต่อนักเลงสุรายิ่งนัก จึงนึกใคร่อยากได้บุตรบาง จึงทำการ บวงสรวงพระอาทิตย์ และพระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐาน เพื่อขอให้มีบุตร อยู่ถึง 3 ปี ก็มิได้มีบุตรสมดังปรารถนา

 

                เมื่อขอบุตรต่อพระอาทิตย์พระจันทร์มิได้ดังปรารถนาแล้ว อยู่มาวันหนึ่งถึงฤดูคิมหันต์จิตรมาส      (เดือน 5 ) โลกสมมุติว่าเป็นวันสงกรานต์  คือ พระอาทิตย์ยกจากราศีมีนประเวสสู่ราศีเมษ คนทั้งหลายพากันเล่นนักขัตฤกษ์ เป็นการรื่นเริงขึ้นปีใหม่ ทั่วชมพูทวีป ขณะนั้นเศรษฐีจึงพาข้าทาสบริวารไปยังต้นไทรริมฝั่งแม่น้ำอันเป็นที่อยู่แห่งปักษีชาติ ทั้งหลาย เอาข้าวสารซาวน้ำ 7 ครั้ง แล้วหุงบูชารุกขพระถไทรพร้อมด้วยสูปพยัญชนะอันประณีต และประโคมด้วยดุริยางค์ดนตรีต่าง ๆ ตั้งจิตอธิษฐานขอบุตรจากรุกขพระไทร รุกขพระไทยมีความกรุณาเหาะไปขอบุตรต่อพระอินทร์เพื่อจะให้แก่เศรษฐี

 

                พระอินทร์จึงได้ธรรมบาลเทวบุตร ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ บิดามารดาขนานนามว่า ธรรมบาลกุมาร แล้วจึงปลูกปราสาทขึ้นให้กุมารอยู่ใตต้นไทรริมฝั่งแม่น้ำนั้น ครั้นกุมาเจริญขึ้น ก็รู้ภาษานกแล้วเรียนจบไตรเทพเมื่ออายุได้ 8 ขวบ และได้เป็นอาจารย์บอกมงคลการต่าง ๆ แก่มนุษย์ชาวชมพูทวีป ทั้งปวง ซึ่งขณะนั้นโลกทั้งหลายนับถือท้าวมหาพรหม และกบิลพรหม องค์หนึ่งได้แสดงมงคลการแก่มนุษย์ทั่งปวง

 

                เมื่อกบิลพรหมแจ้งเหตุที่ธรรมบาลกุมาร เป็นผู้มีชื่อเสียง  เป็นที่นับถือของมนุษย์ชาวโลกทั้งหลาย จึงลงมาถามปัญหาแก่ธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ ความว่า

 

1.        เวลาเช้า  สิริคือราศีอยู่ที่ไหน

2.        เวลาเที่ยง สิริคือราศีอยู่ที่ไหน

3.        เวลาเย็น   สิริคือราศีอยู่ที่ไหน

 

และสัญญาว่า ถ้าท่านแก้ปัญหา 3 ข้อนี้ได้เราจะตัดศีรษะเราบูชาท่าน ถ้าท่านแก้ไม่ได้ เราจะตัดศีรษะ

ท่านเสีย ธรรมบาลกุมารรับสัญญา แต่ผลัดแก้ปัญหาออกไป 7 วัน กบิลพรหมก็กลับไปยังพรหมโลก

 

                ฝ่ายธรรมบาลกุมารพิจารณาปัญหานั้นล่วงไปได้ 6 วัน แล้วยังไม่เห็นอุบายที่จะต้องปัญหาได้ จึงคิดว่าพรุ่งนี้แล้วสิหนอ เราจะต้องตายด้วยอาญาของท้าวกบิลพรหม เราหาต้องการไม่ จำจะหนีไปซุกซ่อนตนเสียดีกว่า คิดแล้วลงจากประสาทเที่ยวไปนอนอยู่ใต้ต้นตาล 2 ต้น ซึ่งมีนกอินทรี 2 ตัวเมียทำรังอยู่บนต้นตาลนั้น

 

                ขณะที่ธรรมบาลกุมารนอนอยู่ใต้ต้นตาลนั้น ได้ยินเสียงนางนกอินทรีถามผัวว่าพรุ่งนี้ เราจะไปหาอาหารที่ไหน นกอินทรีผู้ผัวตอบว่าพรุ่งนี้ครบ 7 วัน ที่ท้าวกบิลพรหมถามปัญหาแก่ธรรมบาลกุมาร แต่ธรรมบาลกุมารแก้ไม่ได้ ท้าวกบิลพรหมจะตัดศีรษะเสียตามสัญญาเราทั้ง 2 จะได้กินเนื้อมนุษย์คือธรรมบาลกุมารนั้นเป็นอาหาร นางนกอินทรีจึงถามท่านรู้ปัญหาหรือ ผู้ผัวตอบว่ารู้ แล้วก็เล่าให้นางนกอินทรีฟังตั้งแต่ต้นจนปลายว่า

 

1.        เวลาเช้าราศีอยู่ที่หน้า คนทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างหน้า

2.        เวลาเที่ยงราศีอยู่ที่อก คนทั้งหลายจึงเอาน้ำและแป้งกระแจะจันทร์ลูบไล้ที่อก

3.        เวลาเย็นราศีอยู่ที่เท้า คนทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า

 

                ธรรมบาลกุมารนอนอยู่ใต้ต้นไม้ได้ยินการสนทนาของนกอินทรี ทั้ง 2 ก็จำได้ จึงมีความโสมนัสปีติยินดีเป็นอันมาก แล้วจึงกลับมาสู่ปราสาทของตน

 

                ครั้นถึงวาระเป็นคำรบ 7 ตามสัญญา ท้าวกบิลพรหมก็ลงมาถามปัญหาทั้ง 3 ข้อ ตามที่นัดหมายกันไว้ ธรรมบาลกุมารก็วิสัชนาแก้ปัญหาทั้ง 3 ข้อ ตามที่ได้ฟังมาจากนกอินทรีนั้น ท้าวกบิลพรหมยอมรับว่าถูกต้อง และยอมแพ้แก่ธรรมบาลกุมาร และจำต้องตัดศีรษะของตนบูชาตามที่สัญญาไว้ แต่ก่อนที่จะตัดศีรษะ ได้ตรัสเรียกธิดาทั้ง 7 อันเป็นบาทบริจาริกาของพระอินทร์คือ

 

1.        นางทุงษะเทวี

2.        นางรากษสเทวี

3.        นางโคราคเทวี

4.        นางกิริณีเทวี

5.        นางมณฑาเทวี

6.        นางกิมิทาเทวี

7.        นางมโหธรเทวี

 

อันโลกสมมุติว่าเป็นองค์มหาสงกรานต์ กับทั้งเทพบรรษัทมาพร้อมกันแล้ว จึงบอกเรื่องราวให้ทราบ

และตรัสว่าพระเศียรของเรานี้ ถ้าตั้งไว้บนแผ่นดินก็จะเกิดไฟไหม้ไปทั่วโลกธาตุ ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศฝนก็จะแล้ง เจ้าทั้ง 7 จงเอาพานมารองรับเศียรของบิดาไว้เถิด ครั้นแล้วท้าวกบิลพรหมก็ตัดพระเศียรแค่พระศอส่งให้นางทุงษะเทวี ธิดาองค์ใหญ่ในขณะนันโลกก็เกิดโกลาหลอลเวงยิ่งนัก

 

            เมื่อนางทุงษะมหาสงกรานต์ เอาพานรองรับพระเศียรของท้าวกบิลพรหม แล้วก็ให้เทพบรรษัทแห่งประทักษิณ เวียนรอบเขาพระสุเมรุราช 60 นาที แล้วจึงเชิญเช้าประดิษฐาน ไว้ในมณฑป ณ ถ้ำคันธธุลี เขาไกรลาส กระทำบูชาด้วยเครื่องทิพย์ต่าง ๆ พระวิศณุกรรม เทพบุตรก็เนรมิตโลงแก้ว อันแล้วไปดวยแก้ว 7 ประการ ชื่อ ภัควดีให้เทพธิดา และนางฟ้าแล้ว เทพยดาทั้งหลายก็นำมาซึ่งเถาฉมุนาตลงล้างน้ำ ในสระอโนดาต  7  ครั้ง แล้วแจกกันสังเวย ทั่ว ทุก ๆ พระองค์ ครั้นได้วาระกำหนดครบ 365 วัน โลกสมมุติว่าปีหนึ่งเป็นวันสงกรานต์ นางเทพธิดาทั้ง 7 ก็ทรงพาหนะต่าง ๆ ผลัดเปลี่ยนเวียนกันมาเชิญพระเศียรของกบิลพรหม ออกแห่พรอมด้วยเทพบรรษัทแสนโกฏิประทักษิณ เวียนรอบเขาพระสุเมรุราชบรรพตทุก ๆ ปี แล้วก็กลับไปยังเทวโลก...”

 

วันเถลิงศก

 

                เดิมประเพณีไทยเราถือประเพณีว่า วันสงกรานต์เป็นวันเถลิงศกใหม่ คือ นับเอาวันที่ 13 เมษายนทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพิ่งมาเปลี่ยนเมื่อปี พ.ศ.2484 ต่อ 2485 สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีนี้เอง

 

                เกจิอาจารย์ท่านพยากรณ์ได้ว่า ถ้าวันใดเป็นวันเถลิงศก วันนั้นจะเกิดอะไรดังนี้

 

                ถ้าวันอาทิตย์ เป็นวันเถลิงศก พระมหากษัตริย์จะเรืองอำนาจจะมีชัยแก่ศัตรูทั่วทิศานุทิศ

                ถ้าวันจันทร์ เป็นวันเถลิงศก พระเทวีและหมู่นางนักสนมบริวาร ประกอบด้วย ความสุขและ

สมบัติทั่งปวง

                ถ้าวันอังคาร เป็นวันเถลิงศก อำมาตย์มนตรีจะอยู่เย็นเป็นสุขแม้จะต่อยุทธด้วยปัจจามิตรทิศใด ๆ

จะมีชัยชนะทุกเมื่อ

                ถ้าวัน พุธ เป็นวันเถลิงศก ราชบัณฑิตปุโรหิต และโหราจารย์จะสุขสำราญเป็นอันมาก

                ถ้าวันพฤหัสบดี เป็นวันเถลิงศก สมณพราหมณาจารย์จะปฏิบัติชอบด้วยธรรมอันประเสริฐ

                ถ้าวันศุกร์ เป็นวันเถลิงศก พ่อค้าวานิชทั้งหลายไปค้าขายในประเทศต่าง ๆ จะประกอบไปด้วยพัสดุเงินทองและความสุขเป็นอันมาก

                ถ้าวันเสาร์ เป็นวันเถลิงศก หมู่ทแกล้วทหารทั้งปวงจะประกอบไปด้วยความสุขและวิชาการต่าง ๆ แม้จะทำยุทธด้วยข้าศึกทิศใด ๆ จะมีชัยชนะทุกเมื่อแล

 

วันมหาสงกรานต์

 

                สิทธิการิยะ ถ้าสงกรานต์ปีใดวันอาทิตย์ เป็นวันมหาสงกรานต์ปีนั้นเรือกสวนไร่นา ไม่ใคร่งาม

                ถ้าวันจันทร์ เป็นวันมหาสงกรานต์ จะแพ้เสนาบดี ท้าวพระยาแลและนางพระยาทั้งหลาย

                ถ้าวันอังคารและวันเสาร์ เป็นวันมหาสงกรานต์ จะเกิดอันตรายกลางเมือง จะเกิดเพลงและโจรผู้ร้าย

ไข้เจ็บหนักที่สุด

                ถ้าวันพุธ เป็นวันมหาสงกรานต์ ท้าวพระยาจะได้บรรณาการจากต่างเมือง แต่จะแพ้ลูกอ่อนนัก

                ถ้าวันพฤหัสบดี เป็นวันมหาสงกรานต์ จะแพ้ท้าวไท พระสงฆ์ราชาคณะ จะเดือดเนื้อร้อนใจนัก

                ถ้าวันศุกร์ เป็นวันมหาสงกรานต์ ข้าวน้ำ ลูกหมากรากไม้ทั้งหลาย จะอุดมสมบูรณ์ แต่จะแพ้เด็ก ฝนและพายุชุก จะเจ็บตายกันมากนักแล

 

วันเนา

 

                วันเนา ได้แก่ วันก่อนจะถึงวันที่ 13 เมษายน ได้แก่วันที่ 12 เมษายน ของทุก ๆ ปี เกจิอาจารย์ท่านวางพยากรณ์ไว้อย่างนี้

                ถ้าวันอาทิตย์ เป็นวันเนา ข้าวจะตายฝอย จะได้ยินเสียงคนต่างภาษา ท้าวพระยาจะหนักใจ

                ถ้าวันจันทร์ เป็นวันเนา เกลือจะแพง นางพระยาจะร้อนใจนัก มักเกิดความไข้ต่าง ๆ

                ถ้าวันอังคาร  เป็นวันเนา หมากพลูข้าวปลาจะแพง จะแพ้มนตรีอำมาตย์ทั้งปวง

                ถ้าวันพุธ เป็นวันเนา ข้าวจะแพง คนทั้งหลายจะทุกข์ร้อน แม้หม้ายจะพลัดที่อยู่

                ถ้าวันพฤหัสบดี  เป็นวันเนา  ลูกไม้จะแพง ราชสกุลทั้งหลายจะร้อนใจนัก

                ถ้าวันศุกร์  เป็นวันเนา พริกจะแพง จะเกิดเพลิงกลางเมือง ขุนนางจะต้องโทษ ข้าวจะตายฝอย

น้ำจะน้อย กว่าทุกปี ชีพราหมณ์จะร้อนใจ พืชผลมักจะแพงแล

 

ชื่อนางสงกรานต์

 

                ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ธิดาท้าวกบิลพรหมมี อยู่ด้วยกัน 7 นาง ถ้าปีใดนางสงกรานต์ ตรงกับอะไรใน 7 วัน นางทั้ง 7 ก็ผลัดเปลี่ยนเวรกันมารับเศียรของบิดาตนเพื่อมิให้ตกลงสู่แผ่นดิน เพราะจะเกิดฝนแล้งไฟไหม้โลก

นางทั้ง 7 มีชื่อต่าง ๆ กัน และแต่งกายก็แตกต่างกันออกไป ประกอบกับอาวุธที่ถือก็แตกต่างกันด้วยดังนี้

 

                วันอาทิตย์ นางสงกรานต์ชื่อ ทุงษะ ทัดดอกทับทิม   เครื่องประดับ ปัทมราช (แก้วทับทิม) ภักษาหาร อุทุมพร (ผลมะเดื่อ) อาวุธขวาจักร ซ้ายสังข์ พาหนะครุฑ

                วันจันทร์ นางสงกรานต์ชื่อ  โคราคะ ทัดดอกปีบ  เครื่องประดับ มุกดา ภักษาหาร เตละ (น้ำมัน)

อาวุธขวาพระขรรค์ ซ้ายไม้เท้า พาหนะพยักฆ์ (เสือ)

                วันอังคาร นางสงกรานต์ชื่อ  รากษส ดอกบัวหลวง เครื่องประดับ แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต (เลือด)

อาวุธขวาตรีศูล (หลาว 3 ง่าม) ซ้ายธนู พาหนะวราหะ (หมู)

                วันพุธ นางสงกรานต์ชื่อ มณฑา ทัดดอกจำปา  เครื่องประดับ ไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย อาวุธขวาเข็ม ซ้ายไม้เท้า พาหนะคัทรภา (ฬา)

                วันพฤหัสบดี นางสงกรานต์ชื่อ กิริณี  ทัดดอกมณฑา เครื่องประดับ มรกต ภักษาหาร ถั่วงา อาวุธขวาขอ ซ้ายปืน พาหนะคช (ช้าง)

                วันศุกร์ นางสงกรานต์ชื่อ กิมิทา ทัดดอกจงกลนี   เครื่องประดับ บุษราคัม ภักษาหาร กล้วยน้ำ อาวุธขวาพระขรรค์ ซ้ายพิณ พาหนะมหิงส์ (ควาย)

                วันเสาร์ นางสงกรานต์ชื่อ มโหธร ทัดดอกสามหาว   เครื่องประดับนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย อาวุธขวาจักร ซ้ายตรี พาหนะมยุรา (นกยูง)

 

                หมายเหตุ เดิมภักษาหารและอาวุธดังกล่าวตามวันต่าง ๆ นั้นเคยจัดไว้ตามวันเสมอมา เพิ่งมาเลิกเมื่อหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ พ.ศ.2476 มานี้เท่านั้นเอง ทั้งพิธีหลวง พิธีราษฎร์ ก็จัดทำกันที่ท้องสนามหลวงและตามชนบท ปัจจุบันกำลังจะมีการฟื้นฟูพิธีนี้นำมาปฏิบัติกันอีก

 

อิริยาบถนางสงกรานต์ขี่พาหนะ

 

                นางสงกรานต์ จะนั่งบนพาหนะในท่าทางอย่างไรนั้น ท่านให้ถือเอาเวลาที่ดวงอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษของปีนั้น ๆ เป็นเกณฑ์ อาจจะเป็นกลางวัน เช้า สาย บ่าย เย็น หรือกลาง คืน เวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้

ถ้าดวงอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษเวลา

1.        รุ่งถึงเที่ยง นางสงกรานต์ยืนบนพาหนะ

2.        เที่ยงถึงวันย่ำค่ำ นางสงกรานต์นั่งบนพาหนะ

3.        พลบค่ำถึงเที่ยงคืน นางสงกรานต์ นอนลืมตาบนพาหนะ

4.        เที่ยงคืนถึงรุ่งเช้า นางสงกรานต์นอนหลับตาบนพาหนะ

 

ข้อสังเกต อิริยาบถเหล่านี้ ท่านจะพบบนปฏิทินแผ่น ๆ ที่บางโรงพิมพ์เขาพิมพ์จำหน่าย ทุกปี